ทฤษฎีและการปฏิบัติ “ปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตร : ปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิด SU Model”



        SU Model คือ รูปแบบจำลองโลกแห่งการศึกษา โดยประกอบด้วยวงกลม ซึ่งเปรียบเสมือนโลกที่มีองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ คือ 1) พื้นฐานทางปรัชญา 2) พื้นฐานทางจิตวิทยา และ 3) พื้นฐานทางสังคม โดยมีสามเหลี่ยมแห่งการศึกษาที่มีองค์ประกอบ 3 ด้าน ได้แก่
         ด้านความรู้ กำกับด้วยปรัชญาทางการศึกษา 2 ปรัชญา คือ ปรัชญาสารัตถนิยม (Essentialism) ซึ่งมีแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนเพื่อเป็นการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ประเพณี และ ปรัชญานิรันดรนิยม (Perenialism) ที่มีแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนด้วยเหตุผล เรียนรู้ในสิ่งที่เป็นเนื้อหาสาระที่มั่นคง
         ด้านผู้เรียน กำกับด้วยปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวะนิยม (Existentialism) ซึ่งมีแนวคิดที่ให้บุคคลมีเสรีภาพในการเลือกด้วยตนเอง มีแนวทางการจัดการศึกษาโดยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเลือกประสบการณ์ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
         ด้านสังคม จะกำกับด้วยปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) โดยมีแนวคิดในการจัดการศึกษาให้กับผู้เรียนควรเป็นไปเพื่อการพัฒนาสังคม เนื่องจากสังคมมีปัญหา
         กระบวนการพัฒนาหลักสูตร (สามเหลี่ยมใหญ่) จะประกอบด้วยขั้นตอนในการจัดทำหลักสูตร(สามเหลี่ยมเล็กๆ  4 ภาพ) โดยประกอบด้วย 4 ขั้นตอนดังนี้
         สามเหลี่ยมแรก เป็นการวางแผนหลักสูตร (Curriculum Planning) อาศัยแนวคิดการพัฒนาหลักสูตรของไทเลอร์ คำถามที่หนึ่งคือ มีจุดมุ่งหมายอะไรบ้างในการศึกษาที่โรงเรียนต้องแสวงหา เพราะว่าหลักสูตรต้องมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน เพื่อนำไปวางแผนหลักสูตร มีการกำหนดจุดหมายของหลักสูตร
         สามเหลี่ยมรูปที่สอง เป็นการออกแบบ (Curriculum Design) ซึ่งจะนำจุดหมายและจุดมุ่งหมายของหลักสูตร มาจัดทำกรอบปฏิบัติ หลักสูตรที่จัดทำขึ้น จะมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้ได้รับการพัฒนาตามกระบวนการของหลักสูตร และหรือ มีผลสัมฤทธิ์ตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร สอดคล้องกับคำถามที่สองของไทเลอร์ คือ มีประสบการณ์ศึกษาอะไรบ้างที่โรงเรียนควรจัดเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายในการศึกษา การออกแบบหลักสูตรมีสาระสำคัญทั้งในด้านกระบวนการ และด้านการพัฒนาผู้เรียน หรือ การออกแบบหลักสูตรมุ่งเน้นความรู้ตามหลักสูตรหรือเนื้อหาสาระ และผลผลิตของหลักสูตร การออกแบบหลักสูตรก็เพื่อให้มีกิจกรรมหรือประสบการณ์ที่ตอบสนองจุดหมาย (aim) และจุดมุ่งหมาย (goal) ของหลักสูตร
         สามเหลี่ยมรูปที่สาม เป็นการจัดระบบหลักสูตร (Curriculum Organize) ซึ่งจะสังเกตเห็นว่ารูปสามเหลี่ยมนี้กลับหัวคล้ายเงาสะท้อนของสามเหลี่ยมรูปแรก ในทางปฏิบัติการจัดระบบหลักสูตรเพื่อให้ตอบสนองการวางแผนหลักสูตร สอดคล้องกับคำถามที่สามของไทเลอร์ คือจัดประสบการณ์เรียนรู้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ในที่นี้การจัดระบบหลักสูตรให้ได้ประสิทธิภาพมีความหมายรวมถึง การบริหารจัดการหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ กล่าวคือ กระบวนการบริหารที่สนับสนุนการจัดประสบการณ์เรียนรู้ ที่มีประสิทธิผลมีประสิทธิภาพ รวมถึงการนิเทศการศึกษา การนิเทศการสอนจะมีบทบาทสำคัญเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และบรรลุวัตถุประสงค์ของหลักสูตร สามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการอยู่ร่วมกันในสังคม
         สามเหลี่ยมรูปที่สี่ การประเมิน (Curriculum Evaluation) เป็นการประเมินทั้งระบบหลักสูตรและผลการเรียนรู้ตามหลักสูตร สอดคล้องกับคำถามที่สี่ของไทเลอร์คือ ประเมินประสิทธิผลของประสบการณ์ในการเรียนอย่างไร เพราะว่าการประเมินผลการเรียน ความรู้และการจัดการเรียนการสอนจะทำให้นักเรียนได้ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในสังคม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น