วิเคราะห์หลักสูตรในสถานศึกษาโรงเรียนรุ่งอรุณ

โรงเรียนทิศทางใหม่ของการศึกษา




โรงเรียนรุ่งอรุณ เป็นโรงเรียนทางเลือกที่กำลังจะมีอายุครบ 20 ปี ได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนทางเลือกที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ทั้งเรื่องบรรยากาศของโรงเรียนที่เหมือนบ้านกลางป่า รูปแบบการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตัวเองตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมปลาย ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องเป็นโรงเรียนสร้างครูชั้นยอด
โรงเรียนรุ่งอรุณ เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Not for Profit Organization) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ คณะทำงานจัดตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ โดย รศ.ประภาภัทร นิยม เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ อาจารย์ประภาภัทรเริ่มต้นชีวิตครูจากการเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อมีประสบการณ์สอนลูกที่มีอาการคล้ายออทิสติก ก็พบว่าหลักสูตรการศึกษาที่มีในเมืองไทยไม่ได้ตอบโจทย์ผู้เรียนทุกคน และเด็กทุกคนมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ได้ ถ้าได้รับกระบวนการสอนที่เหมาะสม

วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๐ โรงเรียนรุ่งอรุณจึงได้เริ่มต้นเปิดดำเนินการสอนเป็นปีการศึกษาแรก ระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา โดยอาศัยแนวทางการบริหารโรงเรียนรุ่งอรุณให้เป็นองค์กรที่มิได้แสวงหากำไร แต่เป็นทางเลือกใหม่สำหรับเยาวชนในระบบการศึกษาของไทย และเป็นหน่วยงานที่ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม

วิถีการเรียนรู้
การเรียนรู้สู่ปัญญา “การศึกษา” ควรมีบทบาทสำคัญในการนำธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ มาพัฒนาแก่นสาระและกระบวนการที่เชื่อได้ว่าจะเป็นครรลองสู่อิสรภาพทางปัญญาซึ่งเป็นคุณสมบัติแห่งการศึกษาที่สมบูรณ์ของมนุษย์
รุ่งอรุณจึงเลือก ครรลองแห่งการพัฒนาปัญญา เป็นแม่บทในการจัดกระบวนการศึกษาที่ชัดเจน เพื่อให้ครู นักเรียน และบุคคลที่แวดล้อม ได้ร่วมกันแสวงหาเป้าหมายสูงสุดคือ ความจริง ความดี ความงามอันประณีตด้วยตนเอง โดยมี สัมมาทิฏฐิ เป็นที่ตั้งและใช้ สติ-สัมปชัญญะ กำกับโดยตลอด ทั้งนี้กระบวนการดังกล่าวจะอาศัย ๒ ปัจจัยหลัก คือ กัลยาณมิตร และโยนิโสมนสิการ  กัลยาณมิตร ได้แก่ พ่อแม่ ครู และบุคคลแวดล้อมผู้มีเมตตา รวมทั้งสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เอื้อแก่การเรียนรู้จริง  โยนิโสมนสิการ คือ วิธีการคิดพิจารณาไตร่ตรองของบุคคลที่จะเกิดการเรียนรู้ด้วยการพึ่งพาสติปัญญาของตนเอง ซึ่งพ่อแม่และครูสามารถเป็นต้นแบบแห่งการถ่ายทอดคุณลักษณะของ ผู้รู้คิด ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เพราะการศึกษาที่แท้จะเริ่มต้นได้เมื่อคนรู้คิดเป็น  วิถีการเรียนรู้สู่ปัญญาดังกล่าว จึงเป็นทิศทางการศึกษาของโรงเรียนรุ่งอรุณ เพื่อนำธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ไปสู่อิสรภาพทางปัญญาผ่านการศึกษาในระบบโรงเรียน



การปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๑๒ ปี ของโรงเรียนรุ่งอรุณ
 แนวคิดของการปรับปรุงหลักสูตรของรุ่งอรณ
โรงเรียนรุ่งอรุณเชื่อว่า การศึกษาขั้นพื้นฐาน ๑๒ ปี ของเยาวชนไทย มีความจำเป็น และมีความสำคัญต่อการวางรากฐาน “การเรียนรู้เป็น” ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ของการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ซึ่งมิได้เป็นไปเพียงมิติแห่ง “ความรู้” เพียงอย่างเดียว แต่ควรเป็น “กระบวนการพัฒนา” ด้านความคิด สติปัญญาและจิตใจไปพร้อมกัน ดังนั้น ภารกิจของโรงเรียนและครูผู้สอนจึงควรช่วยผสมผสาน “ความรู้” และ “กระบวนการ” เข้าด้วยกันอย่างเหมาะสมให้กับผู้เรียนแต่ละวัย แต่ละรายวิชา ทั้งนี้ โรงเรียนรุ่งอรุณได้มีแนวทางที่ครูเป็นผู้ออกแบบวางแผน “หน่วยการเรียนบูรณาการรายวิชาแบบองค์รวม” ขึ้นอย่างครบวงจร และเป็นไปตามหลักสูตรรายวิชา เพื่อใช้เป็นแผนการเรียนการสอน ตลอดจนการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจริงได้อย่างต่อเนื่องครบถ้วนทุกมิติ ในเบื้องต้น โรงเรียนรุ่งอรุณได้ดำเนินการประมวลหลักสูตรรายวิชาดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยขอบเขตและลำดับขั้นตอนของเนื้อหาสาระ ดำเนินการควบคู่ไปกับการกำหนดจุดประสงค์การบรรลุผลการเรียนในแต่ละขั้นตอนนั้นๆ ของแต่ละระดับชั้นในทุกรายวิชา คือ รายวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย มนุษย์ สังคมศึกษาและพุทธศาสนา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ (และภาษาที่ ๓) ดนตรีไทยและนาฏศิลป์ ดนตรีสากล ศิลปะและหัตถศิลป์ พลศึกษา และเทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้นจึงสามารถตรวจเทียบเคียงกับมาตรฐานด้านสาระวิชา และมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น (ตามมาตรฐานแกนกลาง) ได้ ผลที่ปรากฏจากการเทียบเคียงพบว่ารุ่งอรุณได้ควรครอบคลุมเนื้อหาสาระไว้อย่างกว้างขวาง และสามารถลงลึกได้ เนื่องจากวิธีการที่เชื่อมโยงเนื้อหาเข้าเป็นชุดขององค์ความรู้หนึ่งๆ ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่า แนวทางการสร้างหน่วยการเรียนบูรณาการรายวิชาแบบองค์รวมนั้น เป็นแนวทางการปรับปรุงหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานแกนกลางได้เป็นอย่างดี
จุดมุ่งหมาย
จากการที่โรงเรียนรุ่งอรุณ เปิดดำเนินการขึ้นในแนวทางปฏิรูปการเรียนรู้ที่ชัดเจนมาตั้งแต่ต้นนั้น ก็ด้วยตามเจตนารมณ์ที่จะเปลี่ยนวิธีการพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้เรียนรู้เป็น กล่าวคือ รู้เท่าทันองค์ความรู้ต่างๆ และมีอิสรภาพทางปัญญา พอที่จะประมวลความรู้นั้นๆ ให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคมได้อย่างแท้จริง โดยมุ่งสู่ระบบการศึกษาในรูปแบบโรงเรียนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ภายใต้ระบบโรงเรียนอันเป็นมาตรฐานสากลนี้ เป็นจุดตั้งต้นที่เหมาะสมกับความเป็นจริงของสังคมปัจจุบัน หากเพียงแต่สามารถจัดปรับระบบนี้ขึ้นไปสู่ระดับที่มั่นใจได้ว่าเป็นพื้นฐานที่แท้จริงแห่ง
ภูมิปัญญาของสังคมไทย เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาสำหรับเยาวชนไทยให้เป็นผู้ที่พึ่งพาสติ-สัมปชัญญะของตน ในการสร้างองค์ความรู้ให้กับสังคมต่อไปในอนาคตได้
เงื่อนไขสำคัญของการปรับเปลี่ยนระบบโรงเรียนดังกล่าว ขึ้นอยู่กับคุณภาพบุคคลในโรงเรียนนั่นเอง และในทางกลับกัน คุณภาพของบุคคลทั้งหลายในโรงเรียน ไม่ว่าครู-นักเรียน ฯลฯ นั้น ก็อาจฝึกฝนให้เกิดขึ้นและเป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการได้ โดยอาศัยกระแสความสัมพันธ์ต่อกันชนิดหนึ่งซึ่งก่อกำเนิดมาจากแกนกลาง คือ หลักสูตร ที่เป็นเครื่องกำหนดหน้าที่ บทบาท ท่าที วิสัยทัศน์ ความคิด ภายใต้วิธีการเรียนรู้ในทุกมิติอย่างชัดเจนที่สุดนั่นเอง ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า โรงเรียนรุ่งอรุณใช้กระบวนการพัฒนาหลักสูตร ซึ่งเริ่มตั้งแต่กระบวนการสร้าง จนถึงการใช้หลักสูตรที่มีลักษณะเหมือนกระบวนการวิจัยและพัฒนานั่นเองไปส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อตัวผู้กระทำและต่อผลงานที่ปรากฏพร้อมกันไป ในด้านตัวผู้กระทำซึ่งมีหลายระดับ ตั้งแต่ผู้บริหาร ครู นักเรียน ในด้านผลงานก็เช่นกัน มีตั้งแต่ระดับโครงสร้างหลักสูตรและการบริหารมาสู่หน่วยการเรียนบูรณาการแบบองค์รวม ชั้นเรียนที่มีวุฒิภาวะ และผลงานประมวลความรู้ประจำภาคการศึกษาของนักเรียน (หยดน้ำแห่งความรู้) ในที่สุดโรงเรียนรุ่งอรุณจึงอาศัยกระบวนการพัฒนาหลักสูตรซึ่งมีศูนย์กลางทั้งกระบวนการอยู่ที่ “หน่วยการเรียนบูรณาการแบบองค์รวม” นี้ นำไปสู่จุดมุ่งหมายสำคัญ ๓ ประการ คือ
๑. เกิดการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของบุคลากรโดยรวมให้เป็นผู้เรียนรู้เป็นอยู่เสมอ
๒. เกิดการปรับปรุงสาระวิชาอย่างเชื่อมโยงเป็นองค์รวม เต็มไปด้วยเรื่องราวของการเรียนรู้เข้าสู่ความจริงและความดีงาม
๓. นักเรียนและชั้นเรียนเกิดเจตจำนงที่ชัดเจน มีฉันทะ มีความมุ่งมั่นต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง 
คำอธิบายหลักสูตร
เนื้อหาสาระของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๑๒ ปี ของโรงเรียนรุ่งอรุณ มีลักษณะดังนี้
๑. เป็นหลักสูตรรายวิชา แต่ละระดับชั้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อครอบคลุมสาระการเรียนรู้ทั้งหมด
๒. ระบุแนวคิดพื้นฐานของสาระความรู้นั้น คือ เนื้อหาอย่างเป็นองค์รวมของความรู้หนึ่งๆ ซึ่งมีที่มา การดำเนินเรื่องราวและคุณค่าเฉพาะสาระนั้นๆ ที่มีต่อผู้เรียนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โดยเกณฑ์หรือข้อบ่งชี้ ที่นำไปสู่ความจริง ความดีงาม ซึ่งควรค่าแก่ผู้เรียนในวัยนั้นๆ ได้
๓. ระบุจุดประสงค์ที่นักเรียนควรบรรลุผลการเรียนเรื่องนั้นๆ ได้อย่างชัดเจน กล่าวคือ ผลซึ่งเป็นคุณภาพทางด้านความคิด ความรู้ ความเข้าใจ (พุทธิพิสัย) และผลด้านสติปัญญาและจิตใจ (จิตพิสัย)
กระบวนการปรับปรุงหลักสูตรรุ่งอรุณ
การที่โรงเรียนรุ่งอรุณดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรขึ้น ก็เพื่อให้มีแนวทางหรือกติกาเบื้องต้นที่ชัดเจนสำหรับการปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยให้ทุกฝ่ายที่มีบทบาทต่อการเรียนการสอน ได้ดำเนินไปอย่างพร้อมเพรียงกัน จนสามารถไปบรรลุจุดมุ่งหมายเดียวกันได้ในที่สุด หลักการที่ใช้ในการปรับปรุงหลักสูตรของรุ่งอรุณมีองค์ประกอบสำคัญดังต่อไปนี้
·       มาตรฐานหลักสูตรรายวิชา (Subject Oriented)
โรงเรียนรุ่งอรุณได้ทำการวิเคราะห์และประมวลผลการศึกษาและทดลองปฏิบัติรายวิชาในทุกระดับชั้น (เรียงตามลำดับ ๑๒ ระดับชั้น) และสรุปเป็นหลักสูตรรายวิชา ได้แก่ ๑. วิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ๒. วิชามานุษย์และสังคมศึกษา ๓. วิชาวิทยาศาสตร์ (ธรรมชาติศึกษาและประยุกต์วิทยา) ๔. วิชาคณิตศาสตร์ ๕. วิชาภาษาอังกฤษ  ๖. วิชาศิลปะและหัตถศิลป์ ๗. วิชาดนตรีไทย นาฏศิลป์ ๘. วิชาดนตรีสากล ๙. วิชาพลศึกษา ๑๐. วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ  ซึ่งทั้งหมดนี้ได้จัดทำคำอธิบายรายวิชาเพื่อบ่งบอกแนวคิดหลัก ขอบเขตและองค์รวมของเนื้อหาจุดประสงค์การบรรลุผลการเรียนรู้ของเนื้อหาตามระดับชั้นนั้นๆ โดยละเอียด เพื่อให้เป็นแนวทางด้านเนื้อหาสาระ และเป้าหมายเชิงคุณภาพของผู้เรียนตามลำดับแต่ละชั้น
·       หน่วยการเรียนบูรณาการรายวิชาแบบองค์รวม (Integrating or Thematic Based Unit of Contents)
     จากมาตรฐานหลักสูตรรายวิชาที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ซึ่งได้บ่งบอกทิศทาง เป้าหมาย ขอบเขตของเนื้อหาสาระในแต่ละระดับไว้แล้วอย่างชัดเจน ครูจะใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ช่วยให้สามารถนำมาออกแบบสร้างหน่วยการเรียน โดยทำการศึกษา วิเคราะห์ และทำความเข้าใจ เพื่อระบุ “ความเชื่อมโยง” ต่อเนื่องของเนื้อหาสาระที่สัมพันธ์กันเป็นองค์รวม (ตามธรรมชาติและความเป็นจริงขององค์ความรู้ชุดนั้นๆ) เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจถึงที่มาที่ไป และความสำคัญของเรื่องราวนั้นๆ ซึ่งมักจะมีคุณค่าต่อบุคคล (รวมถึงผู้เรียนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม) ผู้เรียนจึงจะสามารถเข้าใจและประมวลภาพรวมของมวลสาระนั้นๆ ในหลากหลายมิติได้ และอาจเชื่อมโยงกับมวลสาระอื่นๆ ได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ครูจะเป็นผู้พิจารณา กำหนดโครงเรื่อง (Theme) เพื่อให้เหมาะสม โดยจะมีความกว้างหรือลึกซึ้งเพียงใด ขึ้นอยู่กับวัยและภาวะการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ
·       สร้างกระบวนการเรียนรู้และถ่ายทอดวิธีคิดจากประสบการณ์จริง (Active Learning)
ระหว่าง ครู-นักเรียน-และสื่อจริงตามธรรมชาติและสภาพแวดล้อมนั้นๆ การกำหนดกระบวนการเรียนรู้นี้ ถือเป็นหลักการสำคัญสำหรับทุกระดับและทุกรายวิชา แต่อาจจะมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ดี ครูทุกคนจะได้นำหลักการนี้ไปใช้เพื่อการออกแบบและสร้างแผนการเรียนการสอนซึ่งผสมผสานวิธีการเรียนรู้อย่างหลากหลาย โดยอาศัยความเข้าใจของครูที่มีต่อธรรมชาติ การเรียนรู้ และเจตจำนงของผู้เรียนตามวัยนั้นๆ เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกและร้อยเรียง จัดลำดับ กิจกรรมลักษณะต่างๆ ให้สอดคล้องเหมาะสมกับเนื้อหาและสามารถบรรลุจุดประสงค์นั้นๆ ได้ โดยที่นักเรียนเป็นผู้ลงมือทำหรือร่วมปฏิบัติ กิจกรรมเหล่านั้นด้วยตนเอง จนประจักษ์รู้ เช่น การลงมือทำชิ้นงานหรือโครงงานหนึ่งๆ ที่ต้องใช้ทักษะต่างๆ ตั้งแต่การสังเกต เปรียบเทียบ บันทึก ภาคสนาม (ครูได้ศึกษาเตรียมการไว้ก่อนแล้ว) และการบันทึกประสบการณ์ตามใบงาน ตลอดจนการฝึกฝนทำแบบฝึกหัดหรือการทดสอบ เพื่อให้เกิดความแม่นยำและความชำนาญเป็นต้น จะเห็นได้ว่าแต่ละกิจกรรมหรือแต่ละวิธีการจะนำไปสู่เป้าหมายและจุดประสงค์การเรียนรู้อย่างหลากหลายในทุกมิติ เช่น มิติของพฤติกรรมการเรียนรู้ ได้แก่ ความ คล่องแคล่วในการปฏิบัติ การบริหารเวลา ความมุ่งมั่น ตั้งใจ และประสิทธิภาพของการทำงาน มิติด้านความเข้าใจและความแม่นยำในเนื้อหาสาระหรือด้านคุณภาพทางสติปัญญาระดับต่างๆ เช่น การคิด เชื่อมโยง การคิดแก้ปัญหา การสืบค้น การประมวล สรุป เป็นต้น

·       การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจริง (Authentic Assessment)
จากจุดประสงค์การบรรลุผลการเรียนในหลักสูตรรายวิชาดังกล่าวในข้อ ๓.๑ เพื่อเชื่อมโยงลงสู่การปฏิบัติจริง กระทำโดยการแยกจุดประสงค์นั้นๆ ลงในแผนการเรียนการสอนย่อยของครูผู้สอน จะช่วยให้ครูผู้สอนยึดกุมภาพรวมของแผนได้ทั้งหมดครบวงจร ตั้งแต่ลำดับขั้นตอนของเนื้อหา ขอบเขต กิจกรรมหรือกระบวนการเรียนเฉพาะตอน จนถึงจุดประสงค์การบรรลุผลของตอนนั้น ซึ่งครูสามารถวัดและประเมินนักเรียน (เป็นรายบุคคล) ได้เป็นระยะหรือช่วงเวลา เป็นคะแนนของแต่ละจุดประสงค์ไว้เป็นเบื้องต้น ตลอดจนคะแนนของชิ้นงานและการทดสอบ (ถ้ามี) ซึ่งเมื่อจบภาคการศึกษา จะนำผลมาประมวลรวมขั้นสุดท้ายของวิชานั้นๆ เพื่อจัดทำรายงานผลการศึกษารายภาคให้ผู้ปกครองทราบต่อไป จะเห็นได้ว่ากลไกการวัดประเมินผลนักเรียนในลักษณะนี้ ในทางกลับกันจะช่วยประเมินแผนของครูด้วย ในระหว่างการดำเนินการเรียนการสอนและการประเมินนักเรียน ครูจะพบข้อบกพร่องหรือผิดพลาดของกิจกรรมบางอย่าง ซึ่งต้องจัดปรับแก้ไขไปให้ทันท่วงที หากจุดประสงค์นั้นไม่สามารถบรรลุได้จริง ด้วยอุปสรรคหรือปัจจัยที่ยากแก่การควบคุม หรือภาวะผู้เรียนที่ยังไม่พร้อม หรือเรียนรู้ได้เร็วเกินกว่าแผน เป็นต้น ทั้งนี้จะช่วยให้ครูได้ปรับแก้ที่ผู้เรียนในกรณีที่ประสบปัญหาในการเรียนได้ทันท่วงที โดยไม่ต้องรอให้จบภาคการศึกษา

         จากหลักการทั้ง ๔ ข้อข้างต้น  มีความสำคัญต่อเนื่องประกอบกัน หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป การปรับปรุงหลักสูตรจะไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง และจากหลักการดังกล่าวนี้เอง ที่มีผลต่อการจัดคาบเวลาเรียน ภาคการเรียน จำนวนนักเรียนต่อห้อง และสัดส่วนครูต่อนักเรียน สภาพแวดล้อมและอาคารสถานที่  ตลอดจนการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้กันอย่างทั่วถึงซึ่งล้วนเป็นสภาพการที่จำเป็นต้องตามมาเอื้ออำนวยให้เกิดการปฏิบัติได้จริงต่อไป


แผนภาพ :หลักการปรับปรุงหลักสูตรรายวิชาของรุ่งอรุณ

การประเมินผล

ประเมินทั้งครูและนักเรียน

สำหรับครูนั้นทำการประเมินและปรับปรุงเพื่อทำแผนใหม่อีกครั้งหนึ่งซึ่งเป็นแผนที่จะพัฒนาข้อบกพร่องต่างๆ ของแผนเดิม ในด้านนักเรียนนั้น ครูเป็นผู้ประเมินจากการเรียนรู้ในห้องและการนำเสนอผลงานในงานหยดน้ำแห่งความรู้ช่วงสิ้นภาคการศึกษา ส่วนเด็กนักเรียนนั้นจะทำการประเมินและพัฒนางานของตนไปตลอดช่วงแห่งการเรียนซึ่งจะมีครูเป็นผู้คอยให้คำชี้แนะร่วมปรึกษาหารือ


หมายเหตุ
เมื่อครูมีความชำนาญพอสมควรแล้ว ครูแต่ละสายวิชาจำเป็นต้องมีการประชุมเพื่อสร้างปรับปรุงหลักสูตร อันประกอบด้วยหลักการบูรณาการสู่ชีวิต โดยใช้วิชานั้นๆ เป็นตัวหลักว่ามีบทบาทในการเรียนการสอนอย่างไร เช่น ในการเรียนหน่วยมนุษย์และสังคมศึกษาในระดับประถมนั้น ครูต้องมาทำความเข้าใจร่วมกันว่า เด็กช่วงวัยนี้ควรมีเนื้อหาสาระที่ร้อยเรียงกันอย่างไร หลักการของวิชาสังคมนั้นคืออะไร และจะประกอบไปด้วยกระบวนการเรียนแบบไหน จึงจะสามารถทำให้ผู้เรียนเข้าใจสิ่งที่ครูต้องการให้เกิดการเรียนรู้ได้ ตัวอย่างเช่น ประเด็นการเรียนรู้ในระดับประถม คือเรื่องชีวิตความเป็นอยู่  จากนั้นจึงวางเนื้อหาสาระสำหรับแต่ละระดับของหน่วยนี้ และเตรียมวางแผนการสอนตามหลักการของวิชาที่วิเคราะห์ร่วมกัน คือ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพื้นที่ โดยมีเงื่อนไขเวลาเป็นองค์ประกอบของความสัมพันธ์ รวมถึงเป็นเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดเรื่องราวต่างๆ จากนั้นครูจึงเริ่มจากวิธีการเรียนที่จะจุดประกายการเรียนรู้สำหรับเด็ก นั่นคือ กระบวนการเรียนจากสิ่งใกล้ตัวที่เด็กชอบ อย่างเช่น ครูพานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ เรียนเรื่องขนม โดยครูค่อย ๆ พาเชื่อมโยงจากขนมที่เด็กชอบไปสู่ขนมรุ่นพ่อแม่ และจากพ่อแม่เชื่อมโยงสู่การเรียนรู้เรื่องครอบครัวตนเองไปสู่ชุมชนโรงเรียนและชุมชนรอบโรงเรียนในที่สุด จากนั้นจึงระบุแนวคิดในหน่วยการเรียนของตน รวมถึงขั้นตอนวิธีการที่จะทำให้หน่วยการเรียนนั้น ๆ เกิดประสิทธิภาพจริงกับผู้เรียน


แก่นแท้การศึกษา "ในแบบฉบับโรงเรียนรุ่งอรุณ"

โดย รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น