หลักสูตรแฝง ( Hidden Curriculum)


6. หลักสูตรแฝง (Hidden Curriculum)
              โรงเรียนโดยทั่วไปจะมีความสามารถและประสบความสำเร็จอย่างมากในการสอนให้นักเรียนอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น และมีความรู้อย่างดียิ่งในสาขาวิชาต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่โรงเรียนได้ตระหนักและพยายามอย่างมาก แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จหรืออาจจะเรียกได้ว่าล้มเหลวมาตลอดก็คือ การสอนคุณธรรม จริยธรรม และความเป็นพลเมืองดีให้แก่นักเรียน เด็กเหล่านี้ได้รับการปลูกฝัง และอบรมสั่งสอนจากครูอย่างจริงจัง แต่พวกเขาก็ไม่ค่อยปฏิบัติตามสิ่งที่ครูสอนมากนักแม้จะมีนักเรียนบางคนประพฤติตนตามคำสอนของครูอย่างเคร่งครัด แต่เมื่อเขาออกจากโรงเรียนไปแล้วก็เปลี่ยนพฤติกรรมและค่านิยมไปตามสังคมที่เรามองกันว่าไม่เหมาะสม คนทั่วๆ ไปในสังคมทราบว่าเหตุใดการสอนให้คนทำความดี และประพฤติดีจึงไม่ประสบความสำเร็จ เขาทราบกันดีว่ามีผู้สอนและผู้อบรมไม่น้อยที่มีลักษณะพูดอย่างทำอย่าง หรือ สอนอย่างหนึ่งแต่ตนเองทำอีกอย่างหนึ่ง จึงมีคำพูดหรือคำเปรียบเทียบที่แสดงข้อเท็จจริงนี้ออกมา เช่น “แม่ปูสอนลูกปู”  “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” และ “จงทำตามที่ครูสอนแต่อย่างทำตามที่ครูทำ”  เป็นต้น ข้อความนี้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจของคนไทยที่มีต่อการสอนค่านิยมและจริยธรรมได้เป็นอย่างดี เพราะโดยธรรมชาติมนุษย์เราจะเรียนรู้พฤติกรรม บุคลิกลักษณะ ค่านิยม และจริยธรรมโดยการเรียนแบบ นักการศึกษาและนักสังคมศาสตร์ชาวตะวันตกได้ให้ความสนใจในการเรียนรู้ประเภทนี้ และเชื่อว่านักเรียนเรียนรู้ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม และพฤติกรรมต่างๆ  จากการกระทำของครูเอง และจากสิ่งที่โรงเรียนจัดให้รวมทั้งสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน มากกว่าการสอนสิ่งเหล่านี้ตามที่ได้กำหนดไว้ในตัวหลักสูตร และได้บัญญัติคำเพื่อเรียกการเรียนรู้ที่แท้จริงที่ไม่ได้เกิดจากหลักสูตรปกติว่า หลักสูตรแฝง (Hidden Curriculum)
              1. ความหมาย
              หลักสูตรแฝง เป็นคำที่แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า Hidden curriculum แต่มีนักพัฒนาหลักสูตรบางท่านพอใจที่จะใช้คำอื่นที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น กู๊ดแลด (Goodlad,1094) ใช้คำว่า implicit curriculum และเซย์เลอร์กับอเล็กซานเดอร์ (Saylor & Alexander,1974) ใช้คำว่า unstudied curriculumถึงแม้จะใช้คำที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่ต่างก็มีความหมายใกล้เคียง หรือถือได้ว่าเป็นความหมายที่มีนัยเดียวกัน คือเป็นหลักสูตรที่แฝงซ่อนเร้น ไม่เปิดเผย และไม่ได้มุ่งศึกษาโดยตรง เพราะถือว่าเป็นหลักสูตรที่ไม่เป็นทางการ (unofficial curriculum)
              หลักสูตรแฝง เป็นหลักสูตรที่ไม่ได้กำหนดแผนการเรียนรู้เอาไว้ล่วงหน้าและเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่โรงเรียนไม่ได้ตั้งใจจะจัดให้ จากนิยามนี้สามารถอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจดีขึ้นโดยตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมดังนี้ ในทางเปิดเผยโรงเรียนสอนคณิตศาสตร์และจัดให้เด็กชายหญิงเรียนรู้ การอ่าน การเขียน การสะกดคำและอื่นๆ แต่โรงเรียนและครูได้สอนหลายสิ่งหลายอย่างโดยไม่ตั้งใจจากการสอนตามหลักสูตรปกติในรูปของกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นมา และเรียนรู้จากสภาพการณ์และเงื่อนไขเชิงสังคมและเชิงกายภาพที่โรงเรียนจัดให้ เป็นต้นว่าสอนนักเรียนให้ทำงานตามลำพังในเชิงของการแข่งขัน หรือให้นักเรียนทำงานด้วยกันเป็นกลุ่ม สอนให้นักเรียนเป็นผู้กระทำหรือเป็นถูกกระทำ ให้รู้จักพอใจเกี่ยวกับข้อเท็จจริงพื้นๆ หรือให้เกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งและอื่นๆ สรุปสั้นๆ และตรงประเด็นก็คือ ครูหรือโรงเรียนสอนค่านิยมให้แก่เด็กอย่างแอบแฝง หรือโดยไม่ตั้งใจ

สไนเดอร์ (Snyder

              แม้จะไม่มีใครกล่าว และให้ความสนใจให้กับหลักสูตรแฝงมากนัก แต่ต้องยอมรับว่าหลักสูตรแฝงมีอยู่ในทุกโรงเรียน สไนเดอร์ (Snyder,1970) ได้ยืนยันความจริงข้อนี้ว่าไม่มีสถานศึกษาใดเลย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนมัธยมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยที่ไม่มีหลักสูตรแฝงปรากฏอยู่และเขาได้แสดงความเชื่อต่อไปว่าหลักสูตรแฝงมีอิทธิพลต่อการปรับตัวของนักเรียนและอาจารย์มากกว่าหลักสูตรปกติ
              2. หลักสูตรแฝงกับพฤติกรรมการเรียนรู้ด้านจิตพิสัย
              โดยทั่วไปโรงเรียนจะประสบความสำเร็จมากในการสอนให้เกิดการเรียนรู้ ทางด้าน  พุทธิพิสัย  และทักษะพิสัย  ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีการสอนและการประเมินผลที่จัดให้เกิดความสอดคล้องกันได้ง่ายและกระทำได้ง่าย  แต่โรงเรียนจะมีปัญหาในการสอนนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ทางด้านจิตพิสัยซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิต  อารมณ์และการกระทำที่สอดคล้องกัน  กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ  เป็นเรื่องของการสอน  เจตคติ  ค่านิยม  และความประพฤติที่พึงประสงค์  เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้โดยการบรรยาย  หรือการใช้คำพูดสั่งสอน  เพราะโดยธรรมชาติและหลักข้อเท็จจริง  เด็กจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ใช้คำพูดสั่งสอน  เพราะโดยธรรมชาติและหลักข้อเท็จจริง  เด็กจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากตัวอย่างและการกระทำของผู้ใหญ่และผู้อยู่ใกล้ชิดมากกว่า

ชิลเบอร์เมน (Silberman)

              ชิลเบอร์เมน (Silberman,1970:9) ได้ยืนยันความจริงในข้อนี้ว่า  สิ่งที่นักการศึกษาจะต้องตระหนักให้มากก็คือ  วิธีการที่เขาสอนและการกระทำของพวกเขามีความสำคัญมากกว่าสิ่งที่เขาสอน  นั่นก็คือว่าวิถีทางที่เรากระทำกับสิ่งต่างๆ จะสร้างค่านิยมได้ตรงกว่าและมีประสิทธิผลมากกว่าที่เราได้สอนหรือพูดคุยกับเขาโดยตรงการปฏิบัติการในเชิงการบริหารที่มีลักษณะเฉพาะ  ประเภทการเลื่อนชั้นโดยอัตโนมัติการแบ่งกลุ่มนักเรียนตามความสามารถ  การแบ่งแยกผิวพรรณและเชื้อชาติ  หรือการสอบแข่งขันเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาจะมีผลต่อหน้าที่พลเมืองมากกว่าการเรียนโดยตรงในหลักสูตรวิชาสังคมศึกษา  เด็กๆ จะถูกสอนให้เรียนรู้เกี่ยวกับค่านิยมจริยธรรม  ศีลธรรม  บุคลิกภาพ  และความประพฤติทุกวันจากการจัดและดำเนินการของโรงเรียน  เช่น  วิถีทางที่ครูและพ่อแม่ประพฤติ  วิถีทางที่พวกเขาพูดกับเด็กและระหว่างผู้ใหญ่ด้วยตนเอง  ชนิดของพฤติกรรมที่พวกเขายอมรับและให้รางวัล  และชนิดของพฤติกรรมที่พวกเขาไม่ยอมรับ  และมีการลงโทษ  มากกว่าการเรียนรู้จากเนื้อหาที่บรรจุไว้ในหลักสูตรปกติ

โคลเบอร์ก (Kopiberg)

              โคลเบอร์ก (kopiberg, 1970:120)  ซึ่งเป็นนักสังคมวิทยาการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาด      ผู้ซึ่งล่วงไปแล้ว  ได้มีความเชื่อและจุดยืนเดียวกันเกี่ยวกับความสำคัญและอิทธิพลของหลักสูตรแฝงในรูปแบบของการเรียนรู้ทางสังคม (socialization)  ของนักเรียน  เขามองว่าหลักสูตรแฝงมีลักษณะและธรรมชาติที่จำเป็นและเอื้อต่อการพาไปสู่ความเจริญงอกงามทางจริยธรรม  เพราะในโรงเรียนประกอบไปด้วยฝูงคน  การยกย่องและอำนาจ
                                                                      
                                 แจ๊คสัน(Jackson)

              แจ๊คสัน (jackson, 1968 : 36) ได้ศึกษาลักษณะที่สำคัญของห้องเรียนและได้ชี้ให้เห็นถึงธรรมชาติของการกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมและความสำคัญของหลักสูตรแฝงว่า  ในขณะที่ใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียน  นักเรียนเรียนรู้ที่จะปรับตนเองให้สอดคล้องกับเจตจำนงของครู  แล้วควบคุมการกระทำของตนเองให้เป็นที่ยอมรับ  เขาเรียนรู้ที่จะยอมรับตามและปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ  และกิจวัตรต่างๆ  ที่ได้กำหนดไว้เขาเรียนรู้ที่จะอดทนกับความไม่พอใจเล็กๆ น้อยๆ และยอมรับนโยบายและแผนงานของผู้บริหาร  แม้ว่าจะขาดเหตุผลไปบ้างก็ตาม  แจ๊คสัน  (Jackson, 1972 : 81 ) ถือว่า กฎ  ระเบียบ  และกิจวัตรประจำวัน  เป็น 3 Rs(rules,regulaons, and  routines ) ของหลักสูตรแฝง  เพราะเป็นสิ่งที่นักเรียนต้องเรียนรู้และปฏิบัติตาม  มิฉะนั้นพวกเขาจะไม่สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นได้
              จากข้อเท็จจริง  ความคิด  และมุมมอง  เกี่ยวกับหลักสูตรแฝงนี้จะช่วยให้ครูและนักการศึกษาได้แง่คิด  และเข้าใจสัจธรรมเกี่ยวกับการเรียนรู้ในเรื่องเจตคติ  ค่านิยม  พฤติกรรม  คุณธรรม  และจริยธรรมของนักเรียน  ความจริงในเรื่องนี้ช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องเกิดความตระหนักว่า   การสอนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ทางด้านจิตพิสัยโดยเน้นการสั่งสอนอบรมในลักษณะการบรรยาย  และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนปกติตามหลักสูตร  แต่เพียงอย่างเดียวย่อมจะไม่เพียงพอ  แต่จะต้องการขอความร่วมมือจากครูและบุคลากรทุกคนของโรงเรียนได้ช่วยกันสร้างบรรยากาศ จัดกิจกรรม  และประพฤติปฏิบัติตนให้เอื้อต่อการเรียนรู้และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียน  เนื่องจากหลักสูตรแฝงมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ในด้านค่านิยมและจริยธรรมของนักเรียน  โรงเรียนจึงไม่ควรเน้นและทุ่มเทในด้านการสอนสิ่งเหล่านี้ตามตัวหลักสูตรปกติมากจนเกินไปหรือเกินความจำเป็น  แต่ให้เพิ่มความสนใจแก่หลักสูตรแฝงมากขึ้น  โดยการนำหลักสูตรแฝงออกมาสู่ที่สว่าง  หรือนำความจริงเกี่ยวกับหลักสูตรแฝงมาเป็นยุทธวิธีหรืออุบายในการสอนจริยธรรมและสิ่งที่ดีงามได้แก่เยาวชน  นั่นคือ  นอกจากการจัดบรรยากาศในโรงเรียนให้ส่งเสริมการเรียนรู้ทางคุณธรรมและจริยธรรมแล้ว  จำเป็นจะต้องมีการควบคุมหรือกำหนดสิ่งแวดล้อมในสังคมระดับชุมชน  และระดับประเทศให้เอื้อและสนองตอบไปในทิศทางเดียวกันด้วย  เพื่อเยาวชนจะได้เรียนรู้และเลียนแบบความประพฤติและสิ่งดีๆ จากผู้ใหญ่ในครอบครัวในโรงเรียนและในสังคม
              จากข้อความข้างต้น สามารถสรุปภาพรวมของหลักสูตรแฝง
เป็นแผนภาพดังนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น